ปกติเมื่อไปเที่ยวภาคเหนือหรือแม้แต่มีเพื่อนเป็นคนเหนือก็มักจะได้ยินคำว่า ก่อ ก๊ะ ก่ะ ก๊า กา เหล่านี้มาบ่อยๆ หลายคนที่ไม่เคยรู้ก็อาจจะงงได้นะคะว่ามันคืออะไร สอนอู้กำเมืองวันนี้จะมาบอกความหมายและวิธีใช้คำเหล่านี้กันค่ะ
ปกติคำว่าก่อ มักจะใช้เสริมคำที่ใช้ถามค่ะ อย่างเช่น ไปกิ๋นข้าวก่อ แปลว่า ไปกินข้าวมั๊ย ไปแอ่วกับเปิ้นก่อซึ่งก็แปลว่า ไปเที่ยวกับเรามั๊ย ไค่อยากกิ๋นข้าวก่อ แปลว่า หิวข้าวมั๊ย นั่นเองค่ะ
คำว่า ก๊ะ หรือ กา ส่วนใหญ่จะใช้ในคำถามเหมือนกัน เช่น ไปแอ่วมาก๊ะ แปลว่า ไปเที่ยวมาเหรอ บ่าไค่อยากกิ๋นข้าวกา แปลว่า ไม่หิวข้าวเหรอ หรือ มีซะตังนักขนาดก๊ะ แปลว่า มีเงินมากนักเหรอ หรือ ตั๋วบ่ากึ๊ดเติงหาเปิ้นกำแล้วกา แปลว่า เธอไม่คิดถึงฉันสักนิดเลยเหรอ เป็นต้นค่ะ
คำว่า ก่ะ ปกติมักจะใช้กับคำที่เอาไว้ตอบรับคำชวน หรือคำถาม เช่น มีคนถามมาว่า มีของขวัญมาหื้อ เอาก่อ ถ้าจะเอาก็จะตอบว่า เอาก่ะ แปลว่า เอาสิ คนถามถามว่า ตั๋วชอบเปิ้นก่อ คนตอบก็จะตอบว่า ชอบก่ะ แปลว่า ชอบสิ คนถามถามว่า กระเป๋าแก่นนั้นงามขนาด เปิงใจ๋ก่อ คนตอบก็จะตอบว่า เปิงใจ๋ก่ะ แปลว่า ถูกใจสิ หรือ คนถามถมาว่า กิ๋นข้าวก่อ คนตอบตกลงก็จะตอบว่า กิ๋นก่ะ แปลว่า กินสิ เป็นต้นค่ะ
คำว่าก๊า ปกติมักจะใช้ต่อท้ายคำพูดที่ไม่ค่อยแน่ใจเท่าไร เช่น มีคนถามมาว่า อ้ายตั๋วบ่าไปยะก๋านกาวันนี้ ซึ่งถ้าเราไม่รู้ก็มักจะตอบกลับไปว่า บ่าไปก๊า แปลว่า ไม่ไปมั้ง หรือ ยะไดมากิ๋นข้าวคนเดว แฟนบ่ามากิ๋นตวยกา อ่อมันท่าจะบ่าไค่อยากกิ่นข้าวเตื่อก๊า เป็นต้นค่ะ
คำเหล่านี้นะคะส่วนใหญ่จะมีความหมายแบบตายตัว ซึ่งถือว่ามีเสน่ห์มากเวลาฟัง อีกทั้งคำยังดูอ่อนช้อยปนขี้เล่น ฟังแล้วน่ารักแบบตลกๆ หลายคนจึงมักหลงเส่ห์ภาษาเหนือ ซึ่งถ้าใครที่อยากจะเรียนรู้ภาษาเหนือเพิ่มเติมนะคะ สามารถหาดูได้ที่นี่เลยค่ะ แต่ถ้าอยากรู้ว่าเขาออกเสียงกันยังไงดูได้ที่คลิปข้างล่างนี้ หรือจะพูดคุยกับเราที่เฟซบุ๊กที่นี่ ขอให้เพื่อนๆสนุกกับการอู้กำเมือง สวัสดีค่ะ